วันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

วรรณคดีไทย

วรรณคดีไทย


 



ความหมายของวรรณคดี

คำว่า วรรณ หมายถึง สี ผิว ชนิด ส่วนคำว่า คดี แปลว่า แนวทาง ดังนั้น คำว่าวรรณคดีจึงหมายถึง แนวทางของหนังสือ

โดยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายของคำว่าวรรณคดีเอาไว้ว่า หนังสือที่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดี มีผู้ให้ความหมายวรรณคดีพอสรุปสังเขปได้ดังนี้

๑. เป็นหนังสือดี อ่านได้โดยไม่เสียประโยชน์ ไม่เป็นเรื่องชักจูงความคิดผู้อ่านไปในทางที่ไม่เป็นแก่นสาร

๒. เป็นหนังสือแต่งดี ใช้วิธีเรียบเรียงอย่างใดๆก็ตามแต่ต้องเป็นภาษาไทยอันดีถูกต้องตามหลักภาษาศาสตร์

๓.เป็นบทประพันธ์อันประกอบด้วยศิลปะแห่งการนิพนธ์และเนื้อเรื่อง

อันมีอำนาจดลใจผู้อ่านให้รู้สึกร่วมได้





ลักษณะของวรรณคดี

วรรณคดีมีลักษณะทั่วไปดังนี้

๑. เนื้อหาเหมาะกับรูปแบบของคำประพันธ์ กล่าวคือกวี ควรจะให้เหมาะสมกับเนื้อหา เช่น การเทิดทูนบุคคลหรือชื่นชมบ้านเมือง ควรใช้คำประพันธ์ประเภทลิลิตหรือคำฉันท์

๒. ภาษาไพเราะและประณีต ซึ่งวรรณคดีไทยจะมุ่งความงามของอรรถรสเป็นสำคัญ มิใช่มุ่งแสดงชีวิตโดยตรงอย่างเดียว ฉะนั้น การใช้ภาษาหรือถ้อยคำจึงต้องประณีต กินใจ โดยเฉพาะคำประพันธ์มักนิยมเล่นสัมผัสหรืออุปมาอุปไมยเพื่อทำให้เกิดจินตนาการและความไพเราะ

๓. ให้คุณค่าทั้งทางสุนทรียภาพและสารประโยชน์ทั้งทางส่วนบุคคลและสังคม

๔. ให้ความบันเทิงใจ ก่อให้เกิดความสะเทือนอารมณ์และให้จินตนาการ

     



  ประโยชน์ของวรรณคดี

การเรียนวรรณคดีทำให้เราได้ศึกษาสิ่งต่างๆ ได้สัมผัสเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัยโดยผ่านทางกวี สภาพสังคม วัฒนธรรม ศึกษาลักษณะคำประพันธ์ที่กวีใช้

๑. วรรณคดีช่วยให้ความรู้หลายด้านที่จะช่วยสร้างเสริมสติปัญญาให้แก่ผู้อ่าน เช่นทางด้านภาษาจะทำให้ผู้อ่านมีความรู้ด้านความหมายของคำ การใช้ภาษาของแต่ละยุคสมัย แต่ละภาค แบบแผนของฉันทลักษณ์แต่ละประเภท ทางด้าน ประวัติศาสตร์ พงศาวดาร ตำนาน นิทาน เรื่องราวพื้นเมืองต่างๆ

๒. วรรณคดีให้คุณค่าทางอารมณ์ต่างๆ เพราะวรรณคดีเป็นเรื่องศิลปะของการถ่ายทอดความรู้สึกและอารมณ์ ทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์คล้อยตาม ได้รับรสสุนทรียภาพของวรรณคดี

๓. วรรณคดีจะช่วยสะท้อนภาพสังคม สภาพชีวิต วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของบรรพบุรุษ ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ และค่านิยมต่างๆ กวีจะสอดแทรกอยู่ในวรรณคดีทั้งสิ้น

๔. วรรณคดีช่วยขัดเกลาจิตใจและยกระดับจิตใจของผู้อ่านให้สูงขึ้น ช่วยจรรโลงจิตใจ ทำให้มนุษย์เห็นตัวอย่างของความทุกข์ ความสุข และปัญหาชีวิตต่างๆ ทำให้ผู้อ่านมองชีวิตด้วยความเข้าใจมากขึ้น










                                             







แหล่งที่มาของข้อมูล

www.geocities.com/thailit_sd/index2.htm

http://th.wikipedia.org

www.hum.ru.ac.th/html/cultrue/p6.html













ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น